ดาหลา
ดอกไม้ขนาดใหญ่รูปทรงแปลกตา สีสดใส มีกลีบซ้อนกันหลายชั้น
ดาหลาที่บ้านเราเป็นสีแดงสดปลูกอยู่ริมรั้วบริเวณที่มีแสงรำไร จะออกดอกตลอดปี และจะให้ดอกมากในฤดูร้อน
เรามักจะปล่อยให้บานอยู่บนต้น ไม่ได้ตัดดอกมาใส่แจกัน พอดอกเหี่ยวถึงค่อยตัดทิ้ง
ดาหลาเป็นไม้ล้มลุก
มีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน ส่วนลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบที่โอบซ้อนกันแน่นเหมือนพืชจำพวกกล้วย
ใบเป็นรูปหอกยาวเรียว ปลายใบแหลม สีเขียวเข้ม ดอกออกเป็นช่อ
แทงก้านดอกจากเหง้าใต้ดิน กลีบประดับซ้อนกันหลายชั้น มีสีชมพูถึงแดงเข้ม
ดอกดาหลาเป็นหนึ่งในดอกไม้ที่เราชอบถ่ายรูปมากๆ
เพราะสีสดและดอกใหญ่ กลีบที่ซ้อนกันหลายๆ ชั้นทำให้รูปมีมิติ
สีแดงสดของดอกตัดกับสีเขียวสดของใบทำให้ได้รูปที่สดใสดีจริงๆ
ความหมายของดอกดาหลา
ก่อนหน้านี้เราก็ไม่เคยรู้ว่าดอกดาหลามีตำนานเรื่องเล่าอะไรมาบ้างหรอกนะ
แต่พอลองค้นดูก็ได้เจอว่าดาหลาเป็นสัญลักษณ์ของการรอคอยความรัก
เพราะมีเรื่องเล่าของคู่รักต่างศาสนาคู่หนึ่ง โดยฝ่ายชายเป็นชาวไทย
ส่วนฝ่ายหญิงสาวเป็นชาวมาเลเซียซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ทั้งสองได้พบและรักกันที่ประเทศมาเลเซีย
แต่ก็ถูกพ่อแม่ของฝ่ายหญิงกีดกันเพราะศาสนาที่ต่างกัน
แล้ววันหนึ่งฝ่ายชายมีความจำเป็นต้องกลับประเทศไทยและได้ให้สัญญากับหญิงสาวว่าจะกลับมาหาที่บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ
ฝ่ายหญิงก็ได้แต่รอการกลับมาด้วยความหวัง รอแล้วรออีก รอจนตรอมใจตายในที่สุด
และหญิงสาวก็ได้อธิษฐานว่าจะขอเกิดมาเป็นดอกดาหลาที่ขึ้นอยู่ตามชายแดนทุกชาติเพื่อรอชายคนรักตลอดไป
สำหรับเรานอกจากตำนานที่ได้รู้มานี้
เรายังมองว่าดอกดาหลาน่าจะใช้แทนความหมายของความมั่นคงได้ด้วย
เพราะเป็นดอกไม้ที่มีความทนทานสุดๆ ไปเลยล่ะ ใครหลายๆ
คนถึงได้ชอบตัดดาหลามาใส่ไว้ในแจกัน เพราะว่าจะอยู่ได้หลายวันเลยทีเดียว
อนุกรมวิธานของดาหลา
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name):
|
Etlingera elatior (Jack) R.M. Smith
|
ชื่อพ้อง (Synonym):
|
Phaeomeria magnifica,
Nicolaia elatior
|
ชื่อสามัญ (Common
name):
|
ดาหลา (Torch
Ginger)
|
วงศ์ (Family):
|
Zingiberales
|
ชื่ออื่นๆ (Other
name):
|
กาหลา
|
ถิ่นกำเนิด (Origin):
|
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
|
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ดอก
ดาหลาเป็นดอกช่อมีลักษณะดอกแบบ head ประกอบด้วย กลีบประดับ
(Bracts) มี 2 ขนาด
ส่วนโคนประกอบด้วยกลีบประดับขนาดใหญ่ มีความกว้าง 2 - 3 ซม. จะมีสีแดงขลิบขาวเรียงซ้อนกันอยู่
และจะบานออก ประมาณ 25 - 30 กลีบ และมีกลีบประดับขนาดเล็กอยู่ส่วนบนของช่อดอก
ความกว้างกลีบประมาณ 1 ซม. ซึ่งมีสีเดียวกับกลีบประดับขนาดใหญ่ กลีบประดับเล็กนี้จะหุบเข้าเรียงเป็นระดับมีประมาณ
300 - 330 กลีบ
ภายในกลีบประดับขนาดใหญ่ที่บานออกจะมีดอกขนาดเล็กกลีบดอกสีแดง
ซึ่งเป็นดอกสมบูรณ์เพศอยู่จำนวนมาก ดอกบานเต็มที่จะมีขนาดความกว้างดอกประมาณ 14 –
16 ซม. ความยาวช่อ 10 – 15 ซม. มีก้านดอกยาว 30 – 150 ซม.
ลักษณะก้านช่อดอกแข็งตรงดอก
ใบ มีรูปร่างยาวรี กลางใบกว้างและค่อยๆ
เรียวไปหาปลายใบและฐานใบ ใบไม่มีก้านใบผิวเกลี้ยง ทั้งด้านบนและด้านล่าง ใบยาว 30
- 80 ซม. กว้าง 10 – 15 ซม. ปลายใบแหลม
ฐานใบเรียว ลาดเข้าหาก้านใบ เส้นกลางใบปรากฏชัดทางด้านล่างของใบ
ลำต้น ดาหลาเป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายข่า
มีลำต้นใต้ดินเรียกว่า เหง้า (rhizome) เหง้านี้จะเป็นบริเวณที่เกิดของหน่อดอกและหน่อต้น
ตาหลา 1 ต้น สามารถให้หน่อใหม่ได้ประมาณ 7 หน่อในเวลา 1 ปี
ส่วนลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบที่โอบช้อนกันแน่นเช่นเดียวกับพวกกล้วย ส่วนนี้คือลำต้นเทียม
(pseudostem) ลำต้นเหนือดินสูง 2 - 3 ม.
มีสีเขียวเข้ม
พันธุ์
ปัจจุบันพันธุ์ดาหลาที่นิยมปลูกตัดดอกมีอยู่ 2 พันธุ์ด้วยกัน คือ
พันธุ์สีชมพูและพันธุ์สีแดง
(ที่มา: การปลูกดาหลา โดยคุณสุรวิช วรรณไกรโรจน์)
การขยายพันธุ์ดาหลา
การแยกหน่อ ควรแยกหน่อที่มีความเหมาะสม
นั่นคือต้องมีความสูงประมาณ 60 - 100 ซม. ขึ้นไป และมีกิ่งอ่อนกึ่งแก่ประมาณ 4 - 5
ใบ มีหน่อดอกอ่อนๆ ประมาณ 3 หน่อ นำไปปลูกลงถุงพลาสติกประมาณ 1 เดือน
เพื่อให้หน่อแข็งแรงก่อนนำลงไปปลูกในแปลง
การแยกเหง้า เป็นการแยกเหง้าเกิดใหม่ที่โคนต้นไปปลูกในแปลงเพาะชำ
ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงจะเริ่มให้ดอก
การปักชำหน่อแก่โดยนำหน่อแก่ไปชำในแปลงเพาะชำเพื่อให้แตกหน่อใหม่ที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง
จากนั้นจึงค่อยแยกหน่อใหม่ย้ายลงไปปลูกในแปลง
การเพาะเมล็ด
คือ การนำเมล็ดแก่ที่ได้จากต้นแม่ไปเพาะในวัสดุเพาะจนได้ต้นกล้าและย้ายลงปลูกในถุงพลาสติก
พอต้นแข็งแรงถึงจะสามารถนำลงแปลงปลูกได้ แต่อย่างไรก็ตาม
การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ค่อนข้างจะช้ากว่าวิธีอื่นๆ แต่จะได้ผลดี คือ
มีอัตราการได้ต้นดาหลาสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นจากหลายพันธุ์ของต้นพ่อและแม่
(ที่มา: ไม้ดอกไม้ประดับ/ดาหลา ความงามที่กินได้ไม้ดอกที่ควรค่าอนุรักษ์ก่อนสูญสิ้นไป โดยคุณอภิวัฒน์ คำสิงห์)
การดูแลรักษา
ดาหลาเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในที่มีแสงแดดรำไร
สามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่ฤดูที่เหมาะสมที่สุด คือ ฤดูฝน
การให้น้ำจะต้องให้ในปริมาณที่มากพอสมควรโดยเฉพาะระยะเริ่มแรกของการปลูกควรรดน้ำให้ชุ่ม
เมื่อต้นดาหลาตั้งตัวได้อาจเว้นระยะห่างของการให้น้ำจากวันละครั้งออกไปเป็นประมาณ
2 – 3 วันต่อครั้ง แต่ต้องคำนึงถึงสภาพอากาศ
ถ้าเป็นฤดูร้อนควรเพิ่มการให้น้ำมากขึ้น
สำหรับการตัดดอกควรตัดในช่วงเช้า
โดยการตัดก้านดอกให้ยาวชิดโคนต้นแล้วแช่ก้านดอกลงในถังที่มีน้ำสะอาดบรรจุอยู่
ดอกดาหลาเมื่อตัดจากต้นแล้วนำมาปักแจกันในน้ำสะอาดจะมีอายุอยู่ได้ประมาณ 3 – 7 วัน
ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมโดยรอบ
ที่บ้านเรามีแต่ดอกดาหลาสีแดงและไม่ค่อยเห็นดาหลาสีชมพูบ่อยนัก
เราเลยมีแต่รูปดาหลาสีแดง หากใครมีรูปดาหลาสีชมพูเอามาแบ่งกันดูบ้างนะคะ